นโยบายคุกกี้

เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ประเภทที่จำเป็น (Strictly necessary cookies) เพื่อให้เว็บ KhunLook ทำงานได้ถูกต้อง ทั้งนี้ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทนี้ขณะที่ใช้งานเว็บ KhunLook โปรดกด "รับทราบ" เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่อ

เข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก X

ใช้สื่อจอใสอย่างไรเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก

หมวด: พัฒนาการ เผยแพร่เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2563

 

            พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่เริ่มให้เด็กใช้สื่อจอใสช้า เลือกรายการทางการศึกษา มีเนื้อหาเอื้อต่อสังคม หรือมีคุณภาพสูง ลดการเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหารุนแรง สำหรับผู้ใหญ่

หรือมีเนื้อหาแฟนตาซีมากเกินไป และไม่เปิดสื่อทิ้งไว้ ดูและพูดสื่อสารกับเด็กระหว่างได้รับสื่อไปด้วย รวมถึงผู้ปกครองก็ใช้สื่อจอใสของตนเองน้อย ฝึกระเบียบวินัยอย่างสม่ำเสมอ และสามารถตอบสนองต่อลูกอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสาร ทักษะด้านสังคม อารมณ์ สติปัญญา การทำหน้าที่บริหารของสมองระดับสูง มีความพร้อมในการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น มีความรุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว และซนสมาธิสั้นลดลง นอกจากนี้หากลูกเป็นเด็กเลี้ยงยาก ควบคุมตนเอง หรืออารมณ์ได้ไม่ดี มีปัญหาพัฒนาการ ซน อยู่ไม่นิ่ง หรือกินยาก พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรหลีกเลี่ยงการใช้สื่อจอใสเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเนื่องจากจะยิ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นนั้นเป็นมากขึ้นได้



คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเกี่ยวกับการให้เด็กปฐมวัยได้รับสื่อจอใสอย่างเหมาะสม

 

 

 

1. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสมองของเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัยโดยผ่านการลงมือทำ การเล่นตามวัย และเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา สติปัญญา ทักษะทางอารมณ์ และสังคม

 


2. ตระหนักและคำนึงถึงผลกระทบของสื่อจอใสที่ผลิตขึ้นสำหรับผู้ใหญ่โดยตรงว่าอาจส่งผลต่อพัฒนาการ พฤติกรรม และสุขภาพของเด็กได้

 


3. ปิดสื่อจอใสต่าง ๆ เมื่อไม่มีคนดู หรือใช้งาน และหลีกเลี่ยงการได้รับสื่อจอใสประเภทต่าง ๆ ของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อมีเด็กเล็กอยู่ในห้องเดียวกันขณะนั้นด้วยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สื่อจอใสประเภทต่าง ๆ อย่างเหมาะสมให้แก่เด็ก

 

 

4. หลีกเลี่ยงที่จะให้เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18-24 เดือน ได้รับสื่อจอใสประเภทต่าง ๆ เลย ยกเว้นการคุยผ่านวิดีโอ (video-chatting) กับคน

 

 
 
5. เด็กอายุ 2-5 ปี ควรจำกัดการรับสื่อจอใสต่าง ๆ โดยไม่ควรได้รับเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

 

 


6. หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กได้รับสื่อจอใสที่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก เช่น สื่อที่มีความก้าวร้าวรุนแรง รวมทั้งสื่อที่มีการนำเสนออย่างรวดเร็ว หรือ app ที่มีเนื้อหาที่อาจทำให้เด็กวอกแวกมากขึ้นโดยเฉพาะในเด็กเล็ก แต่ควรเน้นการเลือกโปรแกรมทางการศึกษาสำหรับเด็กที่มีคุณภาพสูงมากกว่า

 

 

7. หากจะรับสื่อจอใสประเภทต่าง ๆ ควรดูไปพร้อมกับเด็กมากกว่าที่จะปล่อยให้เด็กใช้สื่อเองตามลำพัง เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่ดูมากขึ้น ควรอภิปรายเนื้อหาของสื่อที่ได้รับร่วมกัน

 


8. ควรกำหนดเวลา และสถานที่ภายในบ้านที่จำเป็นต้องปลอดจากสื่อจอใส เช่น เวลารับประทานอาหาร และในห้องนอน เพื่อลดโอกาสที่เด็กจะเข้าถึงสื่อจอใสเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น จนทำให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ตามมา

 


9. หลีกเลี่ยงการใช้สื่อจอใสในเด็กระหว่างมื้ออาหาร และ 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

 


10. พูดคุยแนวทางการให้เด็กได้รับสื่อจอใสอย่างเหมาะสมกับผู้เลี้ยงดูเด็กคนอื่น ๆ ด้วย เช่น พี่เลี้ยง ปู่ ย่า ตา ยาย เพื่อให้ทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และไปในแนวทางเดียวกัน


 

เรียบเรียงโดย: นายแพทย์วีระศักดิ์ ชลไชยะ

เอกสารอ้างอิง : 
1. วีระศักดิ์ ชลไชยะ, เบญจพร ตันตสูติ, คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์. ผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น: Effects of electronic screen media on children and adolescents. ใน: วีระศักดิ์ ชลไชยะ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์; 2561. 
2. วีระศักดิ์ ชลไชยะ. การทำหน้าที่บริหารของสมองระดับสูง: Executive function. ใน: สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, บานชื่น เบญจสุวรรณเทพ, อดิศร์สุดา เฟื่องฟู, จริยา จุฑาภิสิทธิ์, พัฏ โรจน์มหามงคล, บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 4. กรุงเทพฯ: พี.เอ.ลีฟวิ่ง; 2561. หน้า 19-41. 
3. Brown A, Mulligan DA, Altmann TR, Christakis DA, Clarke-Pearson K, Falik HL, et al. Media use by children younger than 2 years. Pediatrics 2011;128:1040-5.
4. Hill D, Ameenuddin N, Chassiakos YR, Cross C, Radesky J, Hutchinson J, et al. Media and young minds. Pediatrics 2016;138:e20162591.
5. Hill D, Ameenuddin N, Chassiakos YR, Cross C, Radesky J, Hutchinson J, et al. Media use in school-aged children and adolescents. Pediatrics 2016;138:e20162592. 
6. Reid Chassiakos YL, Radesky J, Christakis D, Moreno MA, Cross C. Children and adolescents and digital media. Pediatrics 2016;138:e20162593.
7. Chonchaiya W, Pruksananonda C. Television viewing associates with delayed language development. Acta Paediatr 2008;97:977-82.
8. Chonchaiya W, Sirachairat C, Vijakkhana N, Wilaisakditipakorn T, Pruksananonda C. Elevated background TV exposure over time increases behavioural scores of 18-month-old toddlers. Acta Paediatr 2015;104:1039-46.
9. Chonchaiya W, Wilaisakditipakorn T, Vijakkhana N, Pruksananonda C. Background media exposure prolongs nighttime sleep latency in Thai infants. Pediatr Res 2017;81:322-8.
10. Vijakkhana N, Wilaisakditipakorn T, Ruedeekhajorn K, Pruksananonda C, Chonchaiya W. Evening media exposure reduces night-time sleep. Acta Paediatr 2015;104:306-12.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น