การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์
ทราบไหมครับว่าน้ำหนักของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ ส่งผลต่อการดูแลคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ด้วยนะครับ มาดูกันเลยครับว่าคุณแม่ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) ต่าง ๆ ควรมีน้ำหนักขึ้นเท่าไรครับ
ดัชนีมวลกาย คำนวณจาก น้ำหนักเป็น (กก.)/ ส่วนสูง (เมตร)2
เช่น น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ 55 กก. ส่วนสูง 1.65 เมตร
ดัชนีมวลกาย = 55/(1.65x1.65) = 20.2
ดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนตั้งครรภ์ น้อยกว่า 18.5
ตลอดการตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักขึ้น 12-18 กิโลกรัมครับ โดย
- 3 เดือนแรก น้ำหนักควรขึ้น 2-4 กิโลกรัมครับ
- เดือนที่ 4-6 น้ำหนักควรขึ้น 5-7 กิโลกรัมครับ
- 3 เดือนสุดท้าย น้ำหนักควรขึ้น 5-7 กิโลกรัมครับ
ดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนตั้งครรภ์ 18.5-24.9
ตลอดการตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักขึ้น 11.5-16 กิโลกรัมครับ โดย
- 3 เดือนแรก น้ำหนักควรขึ้น 1.5-2 กิโลกรัมครับ
- เดือนที่ 4-6 น้ำหนักควรขึ้น 5-7 กิโลกรัมครับ
- 3 เดือนสุดท้าย น้ำหนักควรขึ้น 5-7 กิโลกรัมครับ
ดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนตั้งครรภ์ 25.0- 29.9
ตลอดการตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักขึ้น 7-11.5 กิโลกรัมครับ โดย
- 3 เดือนแรก น้ำหนักควรขึ้น 1-1.5 กิโลกรัมครับ
- เดือนที่ 4-6 น้ำหนักควรขึ้น 3-5 กิโลกรัมครับ
- 3 เดือนสุดท้าย น้ำหนักควรขึ้น 3-5 กิโลกรัมครับ
ดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนตั้งครรภ์มากกว่าหรือเท่ากับ 30
ตลอดการตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักขึ้น 5-9 กิโลกรัมครับ โดย
- 3 เดือนแรก น้ำหนักควรขึ้น 0-1 กิโลกรัมครับ
- เดือนที่ 4-6 น้ำหนักควรขึ้น 2.5-4 กิโลกรัมครับ
- 3 เดือนสุดท้าย น้ำหนักควรขึ้น 2.5-4 กิโลกรัมครับ
แล้วช่วงอายุครรภ์ต่าง ๆ น้ำหนักของคุณแม่ควรจะทีการเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร มาดูกันเลยครับ
ในช่วง 3 เดือนแรก
น้ำหนักของคุณแม่อาจยังไม่ขึ้นหรืออาจลดลงได้บ้างนะครับไม่ต้องกังวล แต่หากน้ำหนักลดลงเกิน 3 กิโลกรัม หรือ มีแพ้ท้องมาก ควรต้องมาพบคุณหมอนะครับ
ในช่วงเดือนที่ 4-6
คุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มรับประทานได้มากขึ้น น้ำหนักควรจะขึ้นประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือนนะครับ หากน้ำหนักคุณแม่ขึ้นมากกว่านี้ต้องระวังและควบคุมการรับประทานอาหารไม่ให้มากเกินไปด้วยนะครับ
ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย
คุณแม่ส่วนใหญ่จะรับประทานได้มากขึ้น น้ำหนักควรจะขึ้นประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือนนะครับ หากน้ำหนักคุณแม่ลด หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า1-2 กิโลกรัมต่อเดือนต้องระวังและควบคุมการรับประทานอาหารไม่ให้มากเกินไปและปรึกษาคุณหมอด้วยนะครับ ชวนบันทึกน้ำหนักของคุณแม่ในคุณลูกเลยนะครับ
เรียบเรียงโดย : นพ.เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล สุชาอรแสงนิพันธ์กูล พญ.รสวันต์ อารีมิตร
แหล่งข้อมูล: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยสูติแพทย์แห่งประเทศไทย