นโยบายคุกกี้

เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ประเภทที่จำเป็น (Strictly necessary cookies) เพื่อให้เว็บ KhunLook ทำงานได้ถูกต้อง ทั้งนี้ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทนี้ขณะที่ใช้งานเว็บ KhunLook โปรดกด "รับทราบ" เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่อ

เข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก X

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อคุณลูกในครรภ์

หมวด: สุขภาพครรภ์ เผยแพร่เมื่อ: 27 กันยายน 2565

เพื่อความปลอดภัย คุณหมอจะประเมินว่าต้องมีการดูแลครรภ์อย่างไร ทราบไหมครับว่าปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้ ถ้าคุณแม่มีปัจจัยเหล่านี้ ไม่ได้แปลว่าจะเกิดความผิดปกติทุกคนนะครับ เพียงแต่ว่าอาจมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเหล่านี้ครับ ขอคำปรึกษาคุณหมอเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากอายุของคุณแม่ในวันที่คาดว่าจะคลอดน้อยกว่า 18 ปี

  • อาจมีความเสี่ยงที่ลูกจะตัวเล็กหรือน้ำหนักน้อยได้
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากอายุของคุณแม่ในวันที่คาดว่าจะคลอดมากกว่า 35 ปี

  • อาจมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของโครโมโซมของลูกได้และอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ครับ
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากคุณแม่มีข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ≥ 30
  • มีประวัติบิดา มารดา พี่น้องสายตรงเป็นเบาหวาน
  • มีประวัติเบาหวานในขณะตั้งครรภ์
  • มีประวัติการคลอดติดไหล่ในครรภ์ก่อน
อาจมีความเสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการดูแลเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากเคยแท้ง 3 ครั้งหรือมากกว่า ติดต่อกัน

  • อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำได้
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำ หาสาเหตุและป้องกันเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากเคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือ คลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์

  • อาจมีความเสี่ยงที่ครรภ์นี้ลูกจะมีน้ำหนักน้อยหรือคลอดก่อนกำหนดได้
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำ หาสาเหตุและป้องกันเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากเคยคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม

  • อาจมีความเสี่ยงที่ครรภ์นี้ลูกจะมีน้ำหนักเกินเกณฑ์และมีความเสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ด้วยครับ
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการดูแลเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากเคยมีทารกตายในครรภ์หรือเสียชีวิตแรกเกิด (ภายใน 1 เดือนแรก)

  • อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำได้และมีความเสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ด้วยครับ
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการดูแลเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากเคยเข้ารับการรักษาพยาบาลความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์หรือครรภ์เป็นพิษ

  • อาจมีความเสี่ยงที่ครรภ์นี้จะมีภาวะครรภ์เป็นพิษได้ครับ
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการป้องกันเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากเคยผ่าตัดอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น เนื้องอกมดลูก ผ่าตัดคลอด ผูกปากมดลูก ฯลฯ

  • อาจมีความเสี่ยงที่ครรภ์นี้จะภาวะแทรกซ้อนได้
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการดูแลเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


หากครรภ์นี้เป็นครรภ์แฝด

  • อาจมีความเสี่ยงจากครรภ์แฝด เช่น ลูกตัวเล็ก คลอดหรือน้ำเดินก่อนกำหนด หรือ อื่น ๆ
  • ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและป้องกันนะครับ


หากคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดตอนนี้

  • เรื่องนี้น่ากังวลครับ ควรมาพบคุณหมอทันที เพื่อหาสาเหตุและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นการแท้งหรือครรภ์ผิดปกติได้นะครับ


หากคุณแม่มีภาวะโลหิตจาง

  • อาจมีความเสี่ยงลูกจะตัวเล็ก หรือคลอดก่อนกำหนดได้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและหาสาเหตุนะครับ


หากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคชัก ไทรอยด์ SLE หรือ โรคอื่น ๆ

  • อาจมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนของโรคประจำตัวได้ครับ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและดูแลรักษาอย่างเหมาะสมนะครับ


หากคุณแม่ใช้สารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือมีคนใกล้ชิดสูบบุหรี่

  • สารเสพติดทุกชนิดไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อทั้งคุณแม่และคุณลูกในครรภ์ครับ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อลูกได้หลายอย่าง เช่น แท้งลูก โครงสร้างลูกผิดปกติ ลูกน้ำหนักน้อย คลอดหรือน้ำเดินก่อนกำหนด ลูกมีพัฒนาการสมองผิดปกติ พัฒนาการช้า
  • ควรหยุดใช้ ขอให้คนใกล้ชิดหยุดใช้ และปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำนะครับ

เรียบเรียงโดย : นพ.เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล พญ.รสวันต์ อารีมิตร
แหล่งข้อมูล: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยสูติแพทย์แห่งประเทศไทย

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น