นโยบายคุกกี้

เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ประเภทที่จำเป็น (Strictly necessary cookies) เพื่อให้เว็บ KhunLook ทำงานได้ถูกต้อง ทั้งนี้ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทนี้ขณะที่ใช้งานเว็บ KhunLook โปรดกด "รับทราบ" เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่อ

เข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก X

7 เคล็ดลับอ่านนิทานให้ลูกฟัง

หมวด: สิ่งเล็กๆ เผยแพร่เมื่อ: 28 มิถุนายน 2562

อ่านนิทาน

 

        เพราะ “การอ่านนิทานให้ลูกฟัง” คือกิจกรรมที่แสนง่ายแต่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ามหาศาล “โครงการสิ่งเล็กๆที่สร้างลูก” ที่จัดขึ้นโดย สสส. ร่วมกับ 5 ภาคีเครือข่าย จึงขอสนับสนุนและเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่หยิบหนังสือนิทานมาอ่านให้ลูกฟังกันเป็นประจำ

        วันนี้เรามีเคล็ดลับในการอ่านมาฝากกัน

       1.เริ่มอ่าน...ยิ่งไว ยิ่งดี

เริ่มอ่าน...ยิ่งไว ยิ่งดี

             คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกพูดได้หรือเข้าใจภาษาก่อนถึงจะเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เราสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดเลยทีเดียว หรืออาจเริ่มตั้งแต่ลูกน้อยยังอยู่ในท้องคุณแม่เลยด้วยซ้ำ แม้ลูกจะยังไม่เข้าใจความหมายของภาษาหรือคำในหนังสือ แต่สมองของลูกจะเริ่มเรียนรู้และพัฒนาผ่านน้ำเสียงของพ่อแม่ จากเสียงสูงต่ำในคำต่างๆ รวมถึงสัมผัสอ่อนโยนหรืออ้อมกอดของพ่อแม่ขณะอ่านหนังสือให้ลูกฟัง

       2.อ่านอย่างสม่ำเสมอ

อ่านอย่างสม่ำเสมอ

             การอ่านหนังสือให้ลูกฟังที่ได้ผลดีที่สุดคือการอ่านอย่างสม่ำเสมอ เราอาจใช้วิธีกำหนดเวลาเดิมๆ ใกล้เคียงกันทุกวันให้เป็นเวลาอ่านหนังสือ เช่น หลังมื้อเช้า หลังจากนอนกลางวัน หรือก่อนเข้านอนตอนกลางคืน เพื่อไม่ให้ยากเกินไปเราอาจเริ่มต้นจากใช้เวลาไม่กี่นาทีก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาไปตามวัยและความสนใจ ควรทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันจนกลายเป็นความเคยชินของทุกคนในครอบครัว ขณะอ่านควรปิดสื่อทุกชนิดที่จะรบกวนสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หรือโทรศัพท์มือถือด้วยนะ

       3.ใส่อารมณ์ให้สมจริง

ใส่อารมณ์ให้สมจริง

             การเล่านิทานด้วยน้ำเสียงที่สมจริงไปตามตัวละครในเนื้อเรื่องจะช่วยให้ลูกสนใจและสนุกสนานตามไปด้วย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจความหมายของภาษามากนัก แต่น้ำเสียงสูงต่ำและลีลาท่าทางของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้เขาเพลิดเพลินและติดตามฟังได้จนจบ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่ไม่ถนัดในส่วนของการใส่อารมณ์ให้เร้าใจก็อย่าเพิ่งท้อแท้ใจไปนะคะ เพียงแค่อ่านออกเสียงให้ชัดเจน ถูกต้อง ชัดถ้อยชัดคำ ก็นับว่าดีงามแล้วจ้า
       
       4.
เลือกหนังสือที่ใช่

เลือกหนังสือที่ใช่

             เด็กๆ จะรู้สึกมั่นใจและสนุกสนานไปกับหนังสือที่ตัวเองรู้สึก “ใช่” ซึ่งในที่นี้ก็คือหนังสือที่เหมาะสมกับวัย พัฒนาการ พื้นนิสัย และประสบการณ์ชีวิตของเขานั่นเอง ซึ่งเด็กแต่ละคนแต่ละวัยนั้นไม่เหมือนกัน พ่อแม่นี่ล่ะคือผู้ใกล้ชิดที่สุด และรู้จักลูกของเราได้ดีที่สุด การเลือกหนังสือที่เนื้อหายากและซับซ้อนเกินไปสำหรับเด็กเล็ก อาจทำให้ลูกไม่อยากอ่านต่อและเสียความมั่นใจ ในขณะเดียวกันหนังสือที่คาดเดาได้ง่าย เนื้อหาเบสิคเกินไป ก็อาจไม่ถูกใจสำหรับเด็กโต อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าลูกไม่ชอบอ่านหนังสือ เขาอาจแค่ยังไม่เจอหนังสือที่ใช่! คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมสังเกตเรื่องนี้ให้ดีนะจ๊ะ


       5.กระตุ้นให้คิดตาม

กระตุ้นให้คิดตาม

             เมื่อหนังสือจบแต่ความสนุกยังไม่จบแค่เพียงเท่านั้น ในระหว่างการอ่าน หรือเมื่ออ่านจบแล้ว อย่าลืมชวนลูกถามตอบ เช่น “เจ้าหมาอยู่ไหนน้า?” “อันไหนสีแดง?” “นี่ตัวอะไรจ๊ะ?” “ลูกชอบตัวละครไหนที่สุด?” “ถ้าเป็นลูก จะทำอย่างไร?” อาจชวนคุยเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน หรือให้ลูกเป็นฝ่ายตั้งคำถามกับเราบ้าง นิทานบางเรื่องสอดแทรกบทเรียนที่เป็นประโยชน์กับชีวิตจริง เช่น การเล่นกับเพื่อน การไปโรงเรียน การดูแลตัวเอง บ่อยครั้งที่เจ้าหนูจอมซนของเราเชื่อหนังสือมากกว่าเชื่อคุณพ่อคุณแม่เสียอีก การเลือกหนังสือประเภทนี้มาอ่านให้ลูกฟังก็นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่ช่วยให้ลูกซึมซับกับเรื่องราวดีๆ


       6.จำนวนไม่ใช่ปัญหา

จำนวนไม่ใช่ปัญหา

             ถึงแม้การอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังเยอะๆ บ่อยๆ จะเป็นเรื่องดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องลงทุนซื้อหนังสือจนเต็มบ้าน เพราะจำนวนหนังสือไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของลูกแต่อย่างใด สิ่งสำคัญคือ “เวลาคุณภาพ” ที่คุณพ่อคุณแม่นั่งอ่านหนังสือกับลูกต่างหาก และนั่นอาจหมายถึงการหยิบหนังสือเล่มเดิมมาอ่านซ้ำๆ หรือหากทุนทรัพย์ไม่อำนวยคุณพ่อคุณแม่สามารถทำหนังสือนิทานทำมือขึ้นมาเองก็ได้ เพิ่มความสนุกสนานและเสริมจินตนาการยิ่งขึ้นไปอีก

       7.อ่านได้ทุกที่

อ่านได้ทุกที่

             ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่า ตัวอักษร ตัวเลข และคำต่างๆ นั้นอยู่รายล้อมตัวเรามากมายเต็มไปหมด นั่นหมายความว่า การอ่านไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในหนังสือเท่านั้น นอกจากหนังสือนิทานเป็นเล่มแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจชี้ชวนให้ลูกอ่านหรือสังเกตคำต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทาง ป้ายฉลากสินค้า ชื่อร้านและสถานที่ต่างๆ เริ่มต้นจากสัญลักษณ์ง่ายๆ และเพิ่มความยากตามระดับความสามารถของลูก หรืออาจเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่อ่านจากในหนังสือก็ได้ เช่น หาคำที่เหมือนกับในหนังสือนิทานที่เพิ่งอ่านกันไป

 

โปรดติดตาม! ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการอ่านหนังสือกับลูก และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ได้ที่ Facebook Fanpage: สิ่งเล็กๆที่สร้างลูก

ห้ามพลาด! คลิปภาพยนตร์โฆษณาจากโครงการสิ่งเล็กๆที่สร้างลูก ที่ทั้งสนุกและได้ความรู้จากหลากหลายช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ คลิปออนไลน์ และสปอตวิทยุ

ที่สำคัญ! เรามีข้อมูลและเครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยผลิตโดยกระทรวงการสาธารณสุขและสสส. ให้ผู้ปกครองดาวน์โหลดได้ฟรีตามลิงค์ข้างล่างนี้เลย...

  • เพจ “อ่าน อาน อ๊าน” facebook.com/ruready2read เพจที่รวมเคล็ดลับดีๆ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจการเรียนรู้ของลูกหลานผ่านการอ่านอย่างมีความสุข มีทั้งข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับคุณค่าแห่งการอ่าน และแนะนำหนังสือน่าอ่านสำหรับเด็กวัยต่างๆ
  • เว็บไซต์ happyreading.in.th พื้นที่สานพลังของการร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย เผยแพร่ข่าวสาร กิจกรรม รวมทั้งนิทาน ผลงาน และนิทรรศการความรู้ที่เกี่ยวกับการอ่านให้ดาวน์โหลดได้ฟรี
  • เว็บไซต์ : www.khunlook.com
  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน คุณลูก “KhunLook”
  • ดาวน์โหลดคู่มือสิ่งเล็กๆที่สร้างลูก :http://bit.ly/manualSingLekLek
  • ดาวน์โหลดนิทานจ๊ะเอ๋ : http://bit.ly/bookJaAey
  • ดาวน์โหลดโปสเตอร์พัฒนาการลูก : http://bit.ly/posterDSPM62
  • ดาวน์โหลดคู่มือพัฒนาการลูก : http://bit.ly/bookDSPM2562

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น