นโยบายคุกกี้

เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ประเภทที่จำเป็น (Strictly necessary cookies) เพื่อให้เว็บ KhunLook ทำงานได้ถูกต้อง ทั้งนี้ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทนี้ขณะที่ใช้งานเว็บ KhunLook โปรดกด "รับทราบ" เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่อ

เข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก X

พ่อแม่คือของเล่นมีชีวิต

หมวด: สิ่งเล็กๆ เผยแพร่เมื่อ: 28 มิถุนายน 2562

ข่าวดี! พบของเล่นสุดล้ำ เสริมพัฒนาการลูกได้ดี อยู่ที่บ้านของคุณ

         

คำถามยอดฮิตที่พ่อแม่มือใหม่สงสัย...

        จะเลือกซื้อของเล่นให้ลูกอย่างไรดีน้า?

        ของเล่นแบบไหนที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการ?

        ของเล่นแบบไหนที่ช่วยให้ลูกมีสมาธิ

        ของเล่นแบบไหนช่วยให้ลูกฉลาด ไอคิวดี?

        ของเล่นแบบไหนจะทำให้ลูกอารมณ์ดีมีความสุข?

ไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป...คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายโปรดฟังให้ดีๆ

        ของเล่นที่ดีที่สุดของลูกนั้น...ก็คือ...ตัวคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง!

 

ของเล่นมีชีวิต

พ่อแม่คือของเล่นมีชีวิต

        ประโยคนี้คือเรื่องจริงไม่ได้อิงทอยสตอรี่ พ่อแม่คือของเล่นที่มีตัวตน มีชีวิตจิตใจ รับประกันว่าสามารถกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้รอบด้าน ทั้งฝึกสมาธิ ฝึกสมอง ฝึกไอคิว และยังทำให้ลูกอารมณ์ดีมีความสุข รู้สึกอบอุ่นใจคลายหวัด เอ๊ย คลายกังวล แถมยังประยุกต์การเล่นได้ตามวัย ปรับเปลี่ยนวิธีเล่นตามความสนใจของลูกได้ตลอดอีกด้วย

 

การเล่น...ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

        อย่าคิดว่าเรื่องเล่นเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะงานวิจัยมากมายยืนยันได้ว่า การเล่นนั้นจำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ สังคม และอารมณ์ การเล่นทำให้เด็กได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การเล่นช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองโดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ ของชีวิตที่เด็กกำลังทำความรู้จักกับโลกรอบตัว การเล่นช่วยให้เด็กได้ประสบการณ์และสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตั้งแต่พ่อแม่ เด็กวัยเดียวกัน เด็กรุ่นพี่ ไปจนถึงการรับมือกับคนแปลกหน้า การเล่นช่วยให้เด็กค้นพบความสามารถของตัวเองซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความมั่นคงภายในตัวเอง การเล่นทำให้เด็กได้ฝึกทักษะการตัดสินใจ การวางแผน การค้นพบสิ่งที่สนใจ และมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตนสนใจ การเล่นช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาและการสื่อสาร และเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ต่อไป

 

พ่อแม่ชวนลูกเล่น...ดีอย่างไร?

 

ของเล่นมีชีวิต

 

  • ได้สังเกตตรวจเช็คพัฒนาการของลูก ว่าด้านใดช้าไปหรือไม่ หากพบสิ่งปกติจะได้พบแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาทันเวลา
  • พัฒนาทักษะทางภาษาและการสื่อสาร ผ่านการพูดคุยระหว่างเล่นกับพ่อแม่ ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ และการใช้ประโยคสนทนาต่างๆ จากคำพูดของพ่อแม่
  • ค้นพบความถนัดและความสามารถพิเศษของลูก ผ่านการเล่นแบบต่างๆ ทำให้สามารถสนับสนุนต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นไป หรือช่วยเติมสิ่งที่ยังขาดให้สมบูรณ์
  • ช่วยกระตุ้นต่อยอดความคิดของลูก ผ่านการตั้งคำถาม ชวนลูกคิดหาคำตอบ ชวนกันคิดวิเคราะห์ ท้าทายความคิดด้วยวิถีการใหม่ๆ และสามารถถกเถียงด้วยเหตุผลเพื่อหาทางออก
  • เรียนรู้ทักษะทางสังคมและบทบาทต่างๆ จากการเล่นกับผู้อื่น ซึ่งเริ่มจากพ่อแม่ ทั้งการเล่นร่วมกัน ตามกติกา การอดทน รอคอย โดยมีพ่อแม่คอยเสริมสร้างความมั่นใจ ให้กำลังใจและให้คำแนะนำ
  • สร้างความรักความเข้าใจภายในครอบครัว เพราะการใช้เวลาคุณภาพกับลูกจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์และความผูกพันที่จะแนบแน่นเป็นความอบอุ่นอยู่ในใจลูกไปอีกยาวนาน

 

ชวนลูกเล่น...สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก

        ไม่ต้องตกใจถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าจะเล่นกับลูกอย่างไร การเล่นกับลูกนั้นง่ายกว่าที่คิด และอาจเป็นสิ่งที่คุณทำอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัวก็ได้ การเล่นที่มีประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องมาจากการซื้อของเล่นดีๆ ราคาแพงๆ เสมอไป อุปกรณ์การเล่นกับลูกอาจมีมูลค่าศูนย์บาทก็ได้ หรือไม่ต้องใช้ของเล่นหรืออุปกรณ์อะไรก็เล่นกับลูกได้ เรามีหลักการชวนลูกเล่นแบบง่ายๆ มาฝาก ดังนี้

  1. ประสาทสัมผัสทั้ง 6 จำให้ดี – เพราะเด็กๆ มักจะเกิดการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่แค่จำทั้ง 6 อย่างนี้ไว้ และนำไปประยุกต์ตามสถานการณ์ ใช้สิ่งของรอบตัว และกิจวัตรประจำวันที่ทำร่วมกันอยู่แล้ว

  2. ร่างกายของพ่อแม่คือของเล่นที่ลูกชอบ – ร่างกายของพ่อแม่กลายเป็นของเล่นชั้นดีที่ส่งเสริมพัฒนาการได้รอบด้าน และประยุกต์เล่นกับลูกได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนแอบ ขี่คอ อุ้ม กอด เล่นเงา ตบแผละ วิ่งไล่จับ วิ่งแข่ง หรือแม้แต่ยามที่เราหมดแรง หมดมุกจะเล่นแล้ว แค่นอนแผ่ให้ลูกปีนป่ายกอดหอมกัน เท่านี้ลูกก็สนุกและเกิดประโยชน์มากมายแล้ว

  3. ใช้สิ่งของรอบตัว – ทุกวันนี้มีผู้ผลิตของเล่นเสริมพัฒนาการออกมามากมาย คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องสูญเสียเงินทองไปไม่รู้เท่าไหร่กับการชอปปิ้งออนไลน์ แต่ถ้าจะต้องตามซื้อไปทุกสิ่งอย่างก็คงไม่ไหว ลองเปลี่ยนมาชวนลูกเล่นจากสิ่งของรอบๆ ตัวดูบ้าง ช่วยให้ลูกสนุกและเสริมพัฒนาการได้ไม่แพ้ของเล่นที่ต้องใช้เงินซื้อ แค่ลองชวนลูกวาด ตกแต่ง ปะ ติด ประดิษฐ์งานฝีมือจากของจริงหรือของเหลือใช้ เช่น กล่องกระดาษ ขวดพลาสติก ไม้ไอติม หรือแกนทิชชู่ สามารถแปลงร่างกลายเป็นอะไรได้สารพัด สนุกทั้งตอนลงมือทำและตอนเห็นผลลัพธ์เมื่อทำเสร็จ และยังช่วยให้ลูกมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ และรู้ว่าความสุขอยู่รอบตัวไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อก็ได้

  4. เล่นกับธรรมชาติและเล่นอย่างอิสระ – การเล่นกับธรรมชาติดีต่อใจและกายของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อย่าปล่อยให้อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาครอบงำจนลืมสัมผัสของธรรมชาติ ชวนลูกใช้มือปั้นดิน ปั้นทราย เก็บใบไม้แห้ง เรียงก้อนหิน ช่วยฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก และสอนเรื่องประสาทสัมผัสต่างๆ ชวนออกมาวิ่งเล่นที่สนามหญ้ากว้าง ทำให้สดชื่นและแจ่มใส แถมคุณพ่อคุณแม่ได้ลดน้ำหนักไปในตัว และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การเล่นกับลูกยังรวมถึงการปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระเสรี (Free play) โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่ควบคุมหรือกฏเกณฑ์มากำหนด มีความสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กอย่างมาก พ่อแม่เพียงแค่จัดเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยและแน่ใจว่าไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องคอยจับตาดูทุกฝีก้าว ให้เขาได้เติบโตได้ด้วยตัวเอง

 

ของเล่นมีชีวิต

 

        เด็กกับการเล่นเป็นของคู่กัน แต่การเล่นนั้นจะมีคุณค่าและความหมายมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีพ่อแม่เล่นไปกับลูกด้วย เพราะพ่อแม่คือคนสำคัญที่สุดสำหรับลูก เล่นกับลูกทุกวัน วันละนิดวันละหน่อย ไม่ต้องซื้อของเล่นแพงๆ ไม่ต้องเสียเวลานาน (ถ้างานยุ่ง) แต่ขอแค่สังเกต ใส่ใจ เข้าใจ และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกวัน แล้วคุณจะเห็นผลลัพธ์ที่ทำให้ชื่นใจและได้กำไรไปอีกยาวนาน

 

สสส. กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ขอเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ที่ โครงการ “สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก” พบกับสื่อและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองจากคุณหมอและหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เน้นความเข้าใจง่าย และนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึงติดตามกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมายได้ที่ Facebook Fanpage: สิ่งเล็กๆที่สร้างลูก

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น