นโยบายคุกกี้

เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ประเภทที่จำเป็น (Strictly necessary cookies) เพื่อให้เว็บ KhunLook ทำงานได้ถูกต้อง ทั้งนี้ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทนี้ขณะที่ใช้งานเว็บ KhunLook โปรดกด "รับทราบ" เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่อ

เข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก X

สื่อจอใส…ภัยเงียบที่รอเวลาสุกงอม

หมวด: พัฒนาการ เผยแพร่เมื่อ: 29 มิถุนายน 2563

 

สื่อจอใส…ภัยเงียบที่รอเวลาสุกงอม

สื่อจอใส หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจออยู่รอบ ๆ ตัวเราและเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก เพราะเด็กเข้าถึงสื่อจอใสได้ง่ายและทุกที่

ผู้เลี้ยงดูยังอาจใช้สื่อเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและปล่อยให้เด็กดูสื่อจอใสตามลำพัง จนเด็กขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นหนึ่งในประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ที่ไม่ควรมองข้ามสื่อจอใสสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กได้ ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ได้ดูรายการนั้น ๆ จึงทำให้เด็กยิ่งมีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ พัฒนาการ และพฤติกรรมตั้งแต่อายุน้อย

 

การได้รับสื่อจอใสในเด็ก…โอกาสที่เสียไปสำหรับการพัฒนาโครงข่ายในสมองเด็ก




          เด็กได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอตั้งแต่แรกเกิด โดยที่ร้อยละ 90 ของการได้รับสื่อจอใส มาจากโทรทัศน์ ตามมาด้วยแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้สื่อของครอบครัว

         เด็กอายุ 0-4 ปี ได้รับสื่อจอใส ซึ่งรวมถึงการถูกเลี้ยงดูไว้บริเวณหน้าจอโดยไม่จำเป็นต้องดูประมาณ 3-5 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ร้อยละ 85 เป็นสื่อที่ผลิตขึ้นสำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กโต และมักถูกเปิดทิ้งไว้ ซึ่งเด็กเล็กยังไม่สนใจสื่อชนิดนี้มากนัก เนื่องจากยังไม่เข้าใจและสื่อนั้นไม่มีความน่าสนใจสำหรับเด็กเล็กเพียงพอ ซึ่งหากคิดในมุมกลับถ้าผู้เลี้ยงดูนำเวลาดังกล่าวไปใช้โดยการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กผ่านการเล่น พูดคุย ร้องเพลง เล่านิทาน อ่านหนังสือ ทำกิจวัตรประจำวัน ออกกำลังกาย งานอดิเรก หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ร่วมกันจะทำให้เซลล์ประสาทและโครงข่ายในสมองของเด็กได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม เนื่องจากเซลล์ประสาทและโครงข่ายนั้นเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ผ่านการเลี้ยงดูเชิงบวก เปรียบเสมือนต้นกล้าที่เตรียมพร้อมในการได้รับทั้งแสงแดดและฝนที่พอเหมาะเพื่อการเจริญงอกงาม ซึ่งหากไม่ได้รับทั้งฝนและแสงแดดอย่างเพียงพอก็จะไม่สามารถเติบโตเป็นต้นไม้ได้ฉันใด เซลล์ประสาทและโครงข่ายการเชื่อมต่อกันในสมองของเด็กก็ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพฉันนั้น

        เด็กโตและวัยรุ่นจะใช้เวลาอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นการใช้เวลามากกว่าเวลาที่อยู่โรงเรียน หรือใช้สำหรับการนอนหลับ จึงทำให้เด็กยุคปัจจุบันและอนาคตขาดโอกาสในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากขึ้น


สื่อจอใสส่งผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยอย่างไรบ้าง


            ปัจจุบันยังไม่มีงานศึกษาวิจัยใดเลยที่สรุปได้อย่างชัดเจนว่าสื่อจอใสเพียงอย่างเดียวจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีได้ แต่กลับพบหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้นว่าสื่อจอใสสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กในด้านต่าง ๆ ได้แก่

1. พัฒนาการและสติปัญญา

 

             เด็กที่ได้รับสื่อจอใสตั้งแต่อายุน้อย โดยเฉพาะสื่อที่ถูกเปิดทิ้งไว้โดยไม่มีคนดู เป็นปริมาณมากต่อวันอย่างต่อเนื่องตามลำพัง โดยผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กน้อยระหว่างเปิดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอเหล่านี้จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อพัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสารล่าช้า พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์บกพร่อง
ภาวะออทิซึม พัฒนาการล่าช้าหลายด้าน รวมถึงสติปัญญา การเรียนรู้ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพอีกด้วย เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการและสติปัญญาล่าช้าข้างต้นมักเกิดจากการที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ พูดสื่อสาร อ่านหนังสือ เล่นกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู และผู้อื่นลดลงระหว่างการได้รับสื่อจอใสเหล่านั้น นอกจากนี้สื่อจอใสยังไปแทนที่เวลาคุณภาพอื่น ๆ ที่เด็กควรได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย        



 

 

2. การทำหน้าที่บริหารของสมองระดับสูง (executive function หรือ EF)

 

 

 

          คือหน้าที่ในการบริหารจัดการ และกำกับควบคุม ความคิด อารมณ์ และ พฤติกรรม ของตนเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้ ซึ่งสมองกลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) เป็นสมองส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่บัญชาการทักษะ EF นี้ ให้ทำงานเชื่อมโยง และกำกับสมองส่วนอื่น ๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถควบคุมตนเองจนไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ EF จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย โดยในขวบปีแรกนั้นจะเริ่มมีการพัฒนา ซึ่งจะพัฒนาอย่างมากในช่วงอายุ 3-6 ปี หรือวัยอนุบาล แล้วจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 20-25 ปี ดังนั้นปฐมวัยจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็ก ๆ ควรได้รับการพัฒนาทักษะ EF เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการควบคุมตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องพบกับความท้าทาย ปัญหา อุปสรรค หรือความยากลำบากต่าง ๆ ในชีวิตทั้งที่บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน และในสังคมต่อไป

 


 

            เด็กที่ได้รับสื่อจอใสตั้งแต่อายุน้อย แม้ว่าจะไม่ได้ดูรายการนั้น ๆ ก็ตาม จะมีจำนวนชั่วโมงที่ดูสะสมมาก สื่อที่เป็นรายการผู้ใหญ่ มีเนื้อหาแฟนตาซี เช่น ซุปเปอร์ฮีโร่ ตัวแสดงปรากฏขึ้นมาได้เอง มีการแปลงร่างในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง มีการนำเสนออย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่จะเป็นรายการการ์ตูนที่เกี่ยวกับการศึกษาก็ตาม มีความสัมพันธ์กับ EF ที่ลดลง ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกชนิด เด็กอายุมากกว่า 2 ปี ควรใช้หน้าจอกับพ่อแม่ด้วยสื่อคุณภาพไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง อีกทั้งแต่ละครอบครัวควรพิจารณาปิดหน้าจอเพื่อให้เด็กอยู่กับพ่อแม่และพ่อแม่อยู่กับเด็ก เพื่อใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เช่น เล่นกีฬา ศิลปะการป้องกันตัว เทควันโด ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี อ่านหนังสือนิทาน เล่นสมมุติอย่างมีจินตนาการ ฝึกให้เด็กดูแลช่วยเหลือตัวเองตามวัย และให้ช่วยงานบ้าน เป็นต้น เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้สามารถพัฒนา EF ได้มากกว่าการปล่อยให้เด็ก ๆ อยู่กับหน้าจอตามลำพังเพียงอย่างเดียว



 

 3.พฤติกรรม

 

 

 

         เด็กที่ได้รับสื่อที่มีเนื้อหารุนแรงหรือก้าวร้าว รายการผู้ใหญ่ที่ถูกเปิดทิ้งไว้อย่างต่อเนื่องหรือเพิ่มขึ้นตามลำพัง สื่อที่เป็นรายการบันเทิง ไม่ใช่รายการทางการศึกษา มีเนื้อหาแฟนตาซี และมีการนำเสนออย่างรวดเร็ว การใช้สื่อในเวลาค่ำในห้องนอน ร่วมกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ฝึกระเบียบวินัยอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำกัด ควบคุม และกำกับดูแลการใช้สื่อของเด็กด้วยมักมีปัญหาดื้อต่อต้าน ปัญหาปฏิกิริยาทางอารมณ์ มีความรุนแรง ก้าวร้าว พฤติกรรมซนสมาธิสั้น พฤติกรรมการบริโภคมากขึ้นจนเกิดโรคอ้วนได้

 

 

4.การนอนหลับ

 

 

            เด็กที่ได้รับสื่อที่มักถูกเปิดทิ้งไว้โดยไม่มีคนดู เป็นรายการผู้ใหญ่ มีเนื้อหารุนแรง รายการบันเทิง หรือเล่นวิดีโอเกมที่ตื่นเต้น ใช้สื่อในเวลาค่ำในห้องนอนจะสัมพันธ์กับการนอนหลับยากขึ้น ระยะเวลานอนหลับลดลง คุณภาพการนอนหลับไม่ดี ง่วงนอนในเวลากลางวัน และปัญหาการนอนหลับได้

 

 

ใช้สื่อจอใสอย่างไรเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก

 

 

            พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่เริ่มให้เด็กใช้สื่อจอใสช้า เลือกรายการทางการศึกษา มีเนื้อหาเอื้อต่อสังคม หรือมีคุณภาพสูง ลดการเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหารุนแรง สำหรับผู้ใหญ่ หรือมีเนื้อหาแฟนตาซีมากเกินไป และไม่เปิดสื่อทิ้งไว้ ดูและพูดสื่อสารกับเด็กระหว่างได้รับสื่อไปด้วย รวมถึงผู้ปกครองก็ใช้สื่อจอใสของตนเองน้อย ฝึกระเบียบวินัยอย่างสม่ำเสมอ และสามารถตอบสนองต่อลูกอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสาร ทักษะด้านสังคม อารมณ์ สติปัญญา การทำหน้าที่บริหารของสมองระดับสูง มีความพร้อมในการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น มีความรุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว และซนสมาธิสั้นลดลง นอกจากนี้หากลูกเป็นเด็กเลี้ยงยาก ควบคุมตนเอง หรืออารมณ์ได้ไม่ดี มีปัญหาพัฒนาการ ซน อยู่ไม่นิ่ง หรือกินยาก พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรหลีกเลี่ยงการใช้สื่อจอใสเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเนื่องจากจะยิ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นนั้นเป็นมากขึ้นได้

 

เรียบเรียงโดย: นายแพทย์วีระศักดิ์ ชลไชยะ

เอกสารอ้างอิง : 
1. วีระศักดิ์ ชลไชยะ, เบญจพร ตันตสูติ, คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์. ผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น: Effects of electronic screen media on children and adolescents. ใน: วีระศักดิ์ ชลไชยะ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์; 2561.
2. วีระศักดิ์ ชลไชยะ. การทำหน้าที่บริหารของสมองระดับสูง: Executive function. ใน: สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, บานชื่น เบญจสุวรรณเทพ, อดิศร์สุดา เฟื่องฟู, จริยา จุฑาภิสิทธิ์, พัฏ โรจน์มหามงคล, บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 4. กรุงเทพฯ: พี.เอ.ลีฟวิ่ง; 2561. หน้า 19-41.
3. Brown A, Mulligan DA, Altmann TR, Christakis DA, Clarke-Pearson K, Falik HL, et al. Media use by children younger than 2 years. Pediatrics 2011;128:1040-5.
4. Hill D, Ameenuddin N, Chassiakos YR, Cross C, Radesky J, Hutchinson J, et al. Media and young minds. Pediatrics 2016;138:e20162591.
5. Hill D, Ameenuddin N, Chassiakos YR, Cross C, Radesky J, Hutchinson J, et al. Media use in school-aged children and adolescents. Pediatrics 2016;138:e20162592.
6. Reid Chassiakos YL, Radesky J, Christakis D, Moreno MA, Cross C. Children and adolescents and digital media. Pediatrics 2016;138:e20162593.
7. Chonchaiya W, Pruksananonda C. Television viewing associates with delayed language development. Acta Paediatr 2008;97:977-82.
8. Chonchaiya W, Sirachairat C, Vijakkhana N, Wilaisakditipakorn T, Pruksananonda C. Elevated background TV exposure over time increases behavioural scores of 18-month-old toddlers. Acta Paediatr 2015;104:1039-46.
9. Chonchaiya W, Wilaisakditipakorn T, Vijakkhana N, Pruksananonda C. Background media exposure prolongs nighttime sleep latency in Thai infants. Pediatr Res 2017;81:322-8.
10. Vijakkhana N, Wilaisakditipakorn T, Ruedeekhajorn K, Pruksananonda C, Chonchaiya W. Evening media exposure reduces night-time sleep. Acta Paediatr 2015;104:306-12.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น