นโยบายคุกกี้

เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ประเภทที่จำเป็น (Strictly necessary cookies) เพื่อให้เว็บ KhunLook ทำงานได้ถูกต้อง ทั้งนี้ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทนี้ขณะที่ใช้งานเว็บ KhunLook โปรดกด "รับทราบ" เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่อ

เข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก X

อาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกในปีแรก

หมวด: อาหารของคุณลูก เผยแพร่เมื่อ: 29 มิถุนายน 2563



       เมื่อลูกหิว ทารกจะแสดงออกโดยการอ้าปากเพื่อจะกิน อาหารหลักของวัยนี้คือ "นม" นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวยกเว้นมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

  • อาหารหลักของทารกวัยนี้คือนม นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก มีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอกับความต้องการของลูก
  • ทารกช่วงวัยนี้ ควรได้รับนมแม่อย่างเดียวโดยการดูดจากเต้าเป็นหลัก ยกเว้นมีข้อห้ามทางการแพทย์หรือมีปัญหาการเจริญเติบโต
  • น้ำเป็นส่วนประกอบของนมแม่ ดังนั้นทารกที่ได้รับนมแม่เพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำตามหลังการกินนม
  • ควรจับเรอทุกครั้งหลังกินนม
  • มารดาที่ให้นมบุตร ควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ ปลาทะเล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และดื่มนมจืดไขมันต่ำวันละ 2 แก้ว ไม่มีความจำเป็นต้องงดอาหารกลุ่มเสี่ยง (ยกเว้นลูกได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้นมวัว หรืออาหารบางชนิด)


  แรกเกิด-1 สัปดาห์

 

- หากกินนมแม่ ให้ลูกกินเมื่อหิว (ทารกแสดงอาการหิวโดยการอ้าปากเพื่อจะกิน) หรือ ทุก 1-2 ชม. โดยดูดจากเต้าเป็นหลัก หลีกเลี่ยงการให้ทารกดูดนมจากขวดนม เพราะอาจทำให้เกิดภาวะสับสนหัวนมได้ (nipple confusion)
- ถ้าลูกดูดนมแม่ได้เพียงพอ ลูกจะนอนหลับได้ดี ปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง และถ่ายอุจจาระอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- หากมีความจำเป็นต้องให้กินนมผสม ให้เมื่อลูกหิว เตรียมให้ถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำ ควรให้ครั้งละประมาณ 1-2 ออนซ์ จำนวน 8-12 มื้อต่อ 24 ชม. ควรอุ้มลูกเวลาให้นมขวดเสมอเพื่อป้องกันการสำลักนม


 0-2 เดือน

 

- หากกินนมแม่ ให้ลูกกินเมื่อหิว (ทารกแสดงอาการหิวโดยการอ้าปากเพื่อจะกิน) หรือ ทุก 2-3 ชม. โดยให้ลูกดูดนมจากเต้าเป็นหลัก
- เพื่อป้องกันการเกิดเต้านมอักเสบ ท่อน้ำนมอุดตัน ควรให้ลูกดูดนมบ่อย ทุก 2-3 ชม. ดูดให้เกลี้ยงเต้า สลับดูดทั้งสองข้าง และปั๊มนมช่วยเมื่อจำเป็น
- หากมีน้ำนมมาก ลูกอาจสำลักนมได้ ให้ลองปรับท่าเวลาให้นม
- หากคุณแม่ต้องกลับไปทำงานที่ไม่สามารถมาให้นมลูกได้ ควรเตรียมเก็บน้ำนมแม่ไว้ให้ลูกกิน เพื่อให้ลูกได้นมแม่อย่างต่อเนื่อง
- หากมีความจำเป็นต้องให้กินนมผสม ให้เมื่อลูกหิว เตรียมให้ถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำ ควรให้ครั้งละ ประมาณ 2-3 ออนซ์ จำนวน 8 มื้อต่อ 24 ชม.
- ควรอุ้มลูกเวลาให้นมขวดเสมอเพื่อป้องกันการสำลักนม
วัยนี้ยังไม่ควรให้อาหารอื่น เนื่องจากน้ำย่อยและลำไส้ของทารกยังไม่พร้อม


  2-4 เดือน

 

- หากกินนมแม่ ให้ลูกกินเมื่อหิว วัยนี้อาจต้องการกินนมบ่อยขึ้น บ่งบอกว่าต้องการพลังงานมากขึ้น ไม่ใช่ว่าน้ำนมไม่พอ ยิ่งให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้น ร่างกายคุณแม่จะสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น
- หากคุณแม่ต้องกลับไปทำงานที่ไม่สามารถมาให้นมลูกได้ ควรเตรียมเก็บน้ำนมแม่ไว้ให้ลูกกิน เพื่อให้ลูกได้นมแม่อย่างต่อเนื่อง
- หากมีความจำเป็นต้องให้กินนมผสม ให้เมื่อลูกหิว เตรียมให้ถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำ ควรให้ครั้งละ ประมาณ 3-5 ออนซ์  จำนวน 8 มื้อต่อ 24 ชม.
- วัยนี้ยังไม่ควรให้อาหารอื่นหรือผลไม้


 ♥ 4-6 เดือน

 

- หากกินนมแม่ให้ลูกกินเมื่อหิว วัยนี้อาจต้องการกินนมบ่อยขึ้นบ่งบอกว่าต้องการพลังงานมากขึ้นไม่ใช่ว่าน้ำนมไม่พอ ยิ่งให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้น ร่างกายคุณแม่จะสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น
- หากมีความจำเป็นต้องให้กินนมผสม ให้เมื่อลูกหิว เตรียมให้ถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำ ควรให้ครั้งละ ประมาณ 4-6 ออนซ์ จำนวน 6 มื้อต่อ 24 ชม.
- นมยังคงเป็นอาหารหลักของวัยนี้ อาจเริ่มฝึกให้ทารกรับอาหารตามวัย 1 มื้อ ปริมาณเล็กน้อย ค่อยๆ ป้อน ลูกอาจใช้ลิ้นดุนช้อนหรืออาหารออกมาในช่วงแรกและให้สังเกตอาการแพ้
- เริ่มอาหารทีละอย่าง ครั้งละน้อย ๆ ถ้าลูกรับอาหารได้สามารถเริ่มเนื้อสัตว์เช่น ไข่แดง ตับ ไก่ได้เลยเพราะลูกต้องการโปรตีนในการเจริญเติบโตและสร้างมวลกล้ามเนื้อ
ควรเตรียมอาหารโดยมีส่วนประกอบทั้งข้าว เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช ผัก ที่สุกสะอาด ไม่ปรุงรสและค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น
- ไม่บังคับลูก ถ้าลูกปฏิเสธอาหาร
- ไม่ควรให้น้ำผลไม้ ควรให้ผลไม้สุกครูดเป็นเนื้อละเอียด


 6-9 เดือน


- ให้กินนมแม่ให้ลูกกินเมื่อหิว (ทารกแสดงอาการหิวโดยการอ้าปากเพื่อจะกิน) หากมีความจำเป็นต้องให้กินนมผสม ให้เมื่อลูกหิว เตรียมให้ถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำ ควรให้ครั้งละ ประมาณ 5-6 ออนซ์ จำนวน 4-5 มื้อต่อ 24 ชม.
- นมยังคงเป็นอาหารหลักของวัยนี้ แต่นมอย่างเดียวไม่เพียงพอ วัยนี้ต้องได้อาหารตามวัย 1 -2 มื้อ (แทนนม 1 มื้อ) ประกอบด้วยข้าวบด ตับหรือเนื้อสัตว์บดหรือตับบดหรือไข่ ผักใบเขียว น้ำมันพืช ผลไม้สด โดยให้มีสัดส่วนเหมาะสม เริ่มอาหารทีละอย่าง สังเกตอาการแพ้ ทำอาหารบดละเอียดแล้วค่อยบดหยาบขึ้น
- อาหารปรุงสุก สะอาด ไม่ปรุงรส
- ควรศึกษาข้อมูลอาหารตามวัยเพิ่มเติมจากสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดชมพู)
- ทารกวัยนี้มีอัตราการเติบโตลดลงกว่าช่วง 0-6 เดือนแรก
- หลังเริ่มอาหารตามวัย อุจจาระจะมีลักษณะเป็นเนื้อเหนียวมากขึ้น


 9-12 เดือน 

 

- ให้กินนมแม่ ให้ลูกกินเมื่อหิว หากมีความจำเป็นต้องให้กินนมผสม เตรียมให้ถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำ ควรให้ครั้งละ ประมาณ 6-8 ออนซ์ จำนวน 3-5 มื้อต่อ 24 ชม. และไม่ให้นมทดแทนมื้ออาหาร
- นมยังคงเป็นอาหารหลักของวัยนี้ แต่นมอย่างเดียวไม่เพียงพอ วัยนี้ต้องได้อาหารตามวัยด้วย ช่วงอายุ 8-9 เดือน ต้องได้อาหารตามวัย 2 มื้อ (แทนนม 2 มื้อ) ช่วงอายุ 10-12 เดือน ได้อาหารตามวัย 3 มื้อ (แทนนม 3 มื้อ)
- อาหารตามวัยประกอบด้วยข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว เนื้อสัตว์หรือตับบดหรือไข่ ผักใบเขียว น้ำมันพืช โดยให้มีสัดส่วนเหมาะสม เริ่มอาหารทีละอย่าง สังเกตอาการแพ้ ทำอาหารให้หยาบขึ้น
- เริ่มให้อาหารนิ่มที่เด็กหยิบกินเองได้ ไม่ควรให้อาหารที่เป็นเม็ด เช่น ถั่ว ข้าวโพด เพราะอาจสำลักได้
- ฝึกให้ลูกนั่งกินอาหารบนเก้าอี้เด็ก มีส่วนร่วมในการหยิบอาหารเข้าปากเอง จับช้อนเอง ให้เวลาในการกินอาหารไม่เกิน มื้อละ 30 นาที
- อาหารปรุงสุก สะอาด ไม่ปรุงรส ควรมีทั้งต้ม นึ่ง ผัด ทอด สลับกันไป
- ควรเริ่มฝึกให้ทารกดื่มนมจากกล่องหรือแก้ว และฝึกให้เลิกกินนมมื้อดึก เพื่อให้เลิกขวดนมก่อนอายุ 18 เดือน


เรียบเรียงโดย: พญ.สุชาอร แสงนิพันธ์กูล พญ.รสวันต์ อารีมิตร พญ.นลินี จงวิริยะพันธุ์ พญ.สุภาพรรณ ตันตราชีวธร พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ
แหล่งข้อมูล: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย    

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น