นโยบายคุกกี้

เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ประเภทที่จำเป็น (Strictly necessary cookies) เพื่อให้เว็บ KhunLook ทำงานได้ถูกต้อง ทั้งนี้ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทนี้ขณะที่ใช้งานเว็บ KhunLook โปรดกด "รับทราบ" เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่อ

เข้าสู่ระบบ
เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก X

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมสำหรับลูกแต่ละวัย

หมวด: วัคซีน เผยแพร่เมื่อ: 30 มิถุนายน 2563

การให้วัคซีนเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ป้องกันได้หลายชนิด วัคซีนสำหรับลูกมีสองกลุ่มใหญ่ๆ

คือกลุ่มวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน และวัคซีนอื่นๆ ที่อาจให้เสริมหรือทดแทน ซึ่งหมอได้แนะนำไว้ มาดูกันว่ามีวัคซีนอะไรบ้างและต้องให้เมื่อไร


วัคซีนป้องกัน วัณโรค BCG วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน

  • ฉีดให้เด็กทุกคน 1 ครั้งตั้งแต่แรกเกิด ถ้าเคยฉีดแล้วไม่มีแผลเป็นเกิดขึ้น แต่มีหลักฐานบันทึกว่าเคยฉีดแล้ว ไม่ต้องฉีดซ้ำ

วัคซีนป้องกัน ตับอักเสบบี HBV วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน

  • ควรได้รับอย่างน้อย 3 ครั้ง และครั้งสุดท้ายเมื่ออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน (0, 1-2, 6 เดือน)
  • สำหรับเด็กที่แม่เป็นพาหะหรือแม่เป็นโรคตับอักเสบบี ควรฉีดวัคซีนครั้งแรกภายใน 12 ชม. หลังคลอด ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 1 เดือน และ ครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน และในสถานบริการที่มีอิมมูโนโกลบุลินป้องกันตับอักเสบบี (HBIG) ควรได้รับ HBIG หลังคลอด และควรตรวจเลือดว่าเด็กติดเชื้อตับอักเสบบีหรือไม่ เมื่ออายุ 9-12 เดือน
  • ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ใช้วัคซีนรวมที่มี คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ (DTP-HB-Hib) เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน กรณีแม่เป็นพาหะหรือเป็นโรคตับอักเสบบีโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกไม่ได้รับ HBIG ควรได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีแบบเดี่ยวเพิ่มเมื่ออายุ 1 เดือนด้วย (รวมเป็น 5 ครั้ง เมื่ออายุ 0, 1, 2, 4, 6 เดือน)
  • ในกรณีได้รับวัคซีนเสริมชนิดรวมเข็มอาจให้วัคซีนรวมที่มีตับอักเสบบีร่วมด้วยที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน 

 


วัคซีนป้องกัน คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน DTP วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน

  • ควรได้รับ 5 ครั้ง ตอนอายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ 4-6 ปี
  • สามารถใช้ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) แทนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ที่ใช้ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขได้ เพื่อช่วยลดผลข้างเคียง
  • เมื่ออายุ 4-6 ปี สามารถใช้วัคซีนป้องกัน คอตีบ บาดทะยัก ไอกรนสูตรผู้ใหญ่ (Tdap) แทนได้
  • เมื่ออายุ 11-12 ปี ควรได้รับวัคซีนป้องกัน คอตีบ บาดทะยัก สูตรผู้ใหญ่ (Td) หรือ Tdap ก็ได้ และหลังจากนั้นฉีดกระตุ้นด้วย  Td หรือ Tdap ทุก 10 ปี
  • ผู้ใหญ่ควรได้รับ Tdap 1 ครั้ง และหลังจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นด้วย dT (Td) หรือ Tdap ทุก 10 ปี
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ Tdap 1 ครั้งที่อายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ทุกการตั้งครรภ์เพื่อช่วยส่งผ่านภูมิไปคุ้มกันทารก 


วัคซีนป้องกัน โปลิโอชนิดหยอด OPV หรือชนิดฉีด IPV วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน

  • ควรได้รับวัคซีนชนิดหยอด (OPV) 5 ครั้ง ตอนอายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ 4-6 ปี ร่วมกับวัคซีนชนิดฉีด (IPV) 1 ครั้งเมื่ออายุ 4 เดือน
  • สามารถใช้ชนิดฉีด (IPV) แทนชนิดกิน (OPV) ได้ทุกครั้ง หากใช้ชนิดฉีดเพียงอย่างเดียวโดยตลอดอาจฉีดเพียง 4 ครั้ง โดยงดตอนอายุ 18 เดือน


วัคซีนป้องกัน โรคที่เกิดจากไวรัสโรต้า Rota วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน

  •  สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรค วัคซีนนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ 

     - วัคซีนชนิด 1 สายพันธุ์  ควรได้รับ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน 

     - วัคซีนชนิด 5 สายพันธุ์ ควรได้รับ 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน

  • วัคซีนทั้ง 2 ชนิด เริ่มให้ครั้งแรกเมื่ออายุ 6 -15 สัปดาห์ และครั้งสุดท้ายไม่เกิน 8 เดือน โดยแต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ 
  • ควรได้รับชนิดเดียวกันจนครบ หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนต่างชนิดกันในแต่ละครั้งหรือไม่ทราบชนิดของวัคซีนที่ได้รับในครั้งก่อน ต้องให้วัคซีนทั้งหมด 3 ครั้ง (อาจพิจารณาให้ในเด็กอายุมากกว่าที่กำหนดแต่อายุต้องไม่เกิน 2 ปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก)
  • วัคซีนชนิดนี้ มีข้อห้ามให้ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดชนิด SCID และเด็กที่มีประวัติลำไส้กลืนกัน 


วัคซีนป้องกัน โรคที่เกิดจากเชื้อฮิบ Hib วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน

  • ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ใช้วัคซีนรวมที่มี คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ (DTP-HB-Hib) เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน
  • ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดในเด็กปกติที่อายุมากกว่า 2 ปี 

      สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรคแนะนำให้ฉีดดังนี้ 

  • ถ้าฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2-6 เดือน ควรได้รับ 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2 เดือน
  • ถ้าฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 7-11 เดือน ควรได้รับ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2 เดือน
  • ในเด็กกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ  ควรฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งเมื่ออายุ 12-18 เดือน (อาจไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นในเด็กที่แข็งแรงดี)
  • ถ้าฉีดครั้งแรก เมื่ออายุ 12-24 เดือน ควรได้รับ 1 ครั้ง 
  •  สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงดังกล่าว ถ้าฉีดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 2 ปี ควรได้รับ 2 ครั้ง โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 2 เดือน 


วัคซีนป้องกัน หัด คางทูม หัดเยอรมัน MMR วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน

  •  ควรได้รับ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 18 เดือน-2.5 ปี

กรณีที่มีการระบาดหรือมีการสัมผัสโรค 

  • สามารถฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป 
  • หากได้รับครั้งแรกก่อนอายุ 9 เดือน ควรได้รับครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 12 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 18 เดือน-2.5 ปี
  • หากได้รับเข็มแรกตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน แล้วมีการระบาดเกิดขึ้นสามารถฉีด MMR เข็มที่ 2 ได้ก่อนอายุ 2.5 ปี แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  • หากได้รับเข็มแรกหลังอายุ 12 เดือน แล้วมีการระบาดเกิดขึ้นสามารถฉีด MMR เข็มที่ 2 ได้ก่อนอายุ 2.5 ปี แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน
  • สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน พร้อมกับป้องกันโรคอีสุกอีใส  สามารถใช้วัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส (MMRV) แทนการฉีดแยกเข็มได้ตั้งแต่อายุ 1-12 ปี
  • กรณีเคยได้ MMR หรือ VZV มาก่อน แนะนำให้ฉีด MMRV ห่างจาก MMR หรือ VZV ครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน 


วัคซีนป้องกัน ไข้สมองอักเสบเจอี JE วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน

วัคซีนนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ 

  • วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (LAJE) เป็นวัคซีนที่ใช้ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ควรได้รับ 2 ครั้ง ดังนี้

     - ครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน 

     - ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2-2.5 ปี

  • วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) เป็นวัคซีนเสริมใช้สำหรับเด็กภูมิคุ้มกันต่ำ ควรได้รับ 3 ครั้ง ดังนี้

        - ครั้งแรกเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป ครั้งที่ 2 อีก 1-4 สัปดาห์ต่อมา และ ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 1 ปี ตามลำดับ 

  • วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (LAJE) สามารถใช้ฉีดแทนวัคซีนชนิดเชื้อไม่มี

      ในกรณีที่เคยได้รับวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) มาก่อนและต้องการฉีดต่อด้วยวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (LAJE) สามารถฉีดได้โดย

  • กรณีฉีดวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) มาแล้ว 1 เข็ม: ให้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (LAJE) 2 ครั้ง ห่างกัน 3-24 เดือน (ขึ้นกับชนิดของวัคซีน)
  • กรณีฉีดวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) มาแล้ว 2 เข็ม: ให้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (LAJE) 1 ครั้ง ห่างจากเข็มสุดท้าย 1 ปี
  • กรณีที่เคยได้รับวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (Inactivated JE) ครบ 3 เข็มแล้ว: อาจพิจารณาให้วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (LAJE) อีก 1 ครั้ง ห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 12 เดือน
  • ในกรณีที่เคยได้รับวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (LAJE) มาแล้ว 1 เข็ม หากจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต ให้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิตอีก 1 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 12 เดือน


 วัคซีนป้องกัน โรคที่เกิดจากไวรัสเอชพีวี HPV  ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องให้กับเด็กหญิงทุกคนและเป็นวัคซีนที่อาจให้เสริมในเด็กชาย

  • วัคซีนมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด 2 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์
  • สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรคหูดหงอนไก่ด้วยต้องใช้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์
  • ประสิทธิภาพของวัคซีนจะสูงหากให้ในผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • แนะนำให้ในผู้ที่มีอายุ 9-26 ปี โดยเน้นให้ในกลุ่มอายุ 11-12 ปี
  • ควรได้รับ 3 ครั้ง ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6
  • ในวัยรุ่นที่แข็งแรงดี หากฉีดครั้งแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีด 2 ครั้งได้ 2 ครั้งได้ ที่ 0, 6-12 เดือน
  • ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขให้ฉีดในเด็กหญิงชั้นประถมปีที่ 5 จำนวน 2 เข็ม ที่ 0 และ 6 เดือน  


วัคซีนป้องกัน ตับอักเสบเอ HAV วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่อาจให้เสริม

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรค วัคซีนนี้มี 2 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต HAV ควรได้รับ 2 ครั้ง  ครั้งแรกเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป ครั้งที่ 2 ให้ห่างจากครั้งแรก 6-12 เดือน
  • วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต Live HAV ควรได้รับ 1 ครั้ง เมื่ออายุ 18 เดือนเป็นต้นไป 


วัคซีนป้องกัน อีสุกอีใส VZV วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่อาจให้เสริม

  • สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส และประสงค์จะได้รับการป้องกันโรค ควรได้รับ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกฉีดเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป (แนะนำให้ฉีดเมื่ออายุ 12-18 เดือน) และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2-4 ปี 
  • กรณีมีการระบาดอาจฉีดเข็มที่ 2 ก่อนอายุ 4 ปีได้ โดยต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  • ถ้าอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ควรฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน


วัคซีนป้องกัน ไข้หวัดใหญ่ Influenza วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่อาจให้เสริม

  • สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรค
  •  แนะนำโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี เด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

   โดยฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป

  • ถ้าฉีดครั้งแรก เมื่ออายุ < 9 ปี ในปีแรกฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน และหลังจากนั้นฉีดกระตุ้นปีละครั้ง
  • ถ้าฉีดครั้งแรก เมื่ออายุ > 9 ปี ควรฉีดปีละครั้ง
  • สามารถใช้วัคซีนป้องกัน ไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 หรือ 4 สายพันธุ์ทดแทนกันได้ 


วัคซีนป้องกัน โรค ไอพีดี IPD ชนิดคอนจูเกต หรือวัคซีน PCV วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่อาจให้เสริม

  • สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรคอายุ 6 สัปดาห์-5 ปี หรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ ธาลัสซีเมีย โรคเรื้อรังของอวัยวะต่างๆ เช่นโรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน หอบหืดรุนแรง และโรคที่เสี่ยงต่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

วัคซีนป้องกัน โรค ไอพีดี (IPD) ชนิดคอนจูเกตมี 2 ชนิด คือ ชนิด 10 และ 13 สายพันธุ์

  • หากฉีดครั้งแรก เมื่ออายุ 2-6 เดือน ควรได้รับ 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์ และฉีดกระตุ้น 1 ครั้งเมื่ออายุ 12-15 เดือน โดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน
  • หากฉีดครั้งแรก เมื่ออายุ 7-11 เดือน ควรได้รับ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์ และฉีดกระตุ้น 1 ครั้งเมื่ออายุ 12-15 เดือน โดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน
  • หากฉีดครั้งแรก เมื่ออายุ 12-23 เดือน ควรได้รับ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์ ไม่ต้องฉีดกระตุ้น
  • การฉีดครั้งแรกในเด็กปกติอายุ 2-5 ปี
      - หากได้รับวัคซีนชนิด 10 สายพันธุ์ ควรได้รับ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 8 สัปดาห์
      - หากได้รับวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ ควรได้รับ 1 ครั้ง และไม่ต้องฉีดกระตุ้น
  • การฉีดครั้งแรกในเด็กกลุ่มเสี่ยง
     - อายุ 2-5 ปี ควรได้รับวัคซีนชนิด 10 สายพันธุ์ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 8 สัปดาห์
     - อายุ 2-6 ปี ควรได้รับวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 8 สัปดาห์
     - อายุ >6-13 ปี ควรได้รับวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ 1 ครั้ง 
  • ควรฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด polysaccharide 23 สายพันธุ์ (PS-23) 1 ครั้งห่างจาก PCV ครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 8 สัปดาห์ และ ควรได้รับ PS-23 อีก 1 ครั้ง ห่างจาก PS-23 ครั้งแรก 5 ปี เพื่อเพิ่มการป้องกันโรค 


วัคซีนป้องกัน หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส MMRV วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่อาจให้เสริมหรือทดแทน

  • สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน พร้อมกับป้องกันโรคอีสุกอีใส
  • สามารถใช้แทนการฉีดวัคซีนชนิดแยกเข็มได้ตั้งแต่อายุ 1-12 ปี
  • การใช้วัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส (MMRV) ที่อายุ 12-23 เดือน แทนวัคซีนชนิดแยกเข็มครั้งแรกมีโอกาสเกิดการชักจากไข้มากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดแยกเข็ม
  • การใช้วัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส (MMRV) ที่อายุ 18 เดือน-4 ปี แทนวัคซีนชนิดแยกเข็มพบมีอาการข้างเคียงไม่แตกต่างกัน
  • กรณีเคยได้วัคซีนชนิดแยกเข็ม MMR หรือ VZV มาก่อน แนะนำให้ฉีด MMRV ห่างจาก MMR หรือ VZV ครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน  


วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก DEN วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่อาจให้เสริม

  • สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรค
  • แนะนำให้ในผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี
  • ควรได้รับ 3 ครั้ง ในเดือนที่ 0, 6 และ 12
  • วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกเมื่อฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 9 ปี และ เคยมีการติดเชื้อโรคไข้เลือดออกมาก่อน โดย
    - ในเด็กที่อายุ 9-18 ปี ที่มีประวัติเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน สามารถให้วัคซีนนี้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด
    - สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออก ควรตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน และให้วัคซีนเฉพาะเมื่อพบว่าเคยติดเชื้อมาก่อนโดยใช้ชุดตรวจที่มีเพื่อการวินิจฉัยโรค
  • ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แต่ยังไม่ครบ 3 เข็ม ให้พิจารณาฉีดให้ครบได้ โดยไม่ต้องตรวจเลือดก่อน หรืออาจพิจารณาไม่ฉีดต่อก็ได้
  • การพิจารณาอาจใช้ข้อมูลการเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน การอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีผู้ป่วย และข้อมูลทางระบาดวิทยา 

  


วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า Rabies  วัคซีนนี้เป็นวัคซีนจำเป็นหากถูกสุนัขแมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ กัด และอาจฉีดเพื่อป้องกันโรคก่อนการสัมผัสในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์ดังกล่าวกัด

  • สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับการป้องกันโรคก่อนการสัมผัสหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสุนัขแมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ กัดในทุกอายุ  ควรได้รับ 2 ครั้งโดย
         - ฉีดเข้ากล้ามเนื้อในวันที่ 0 และ 7  หรือ  ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 2 จุด ในวันที่ 0 และ 7   หรือ  ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 2 จุด วันที่ 0 และ 21
         - มีข้อดีคือเมื่อถูกกัดจะให้เฉพาะวัคซีน ไม่ต้องให้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย
  • สำหรับผู้ที่ถูกสุนัขแมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ กัดและไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน
         - หากถูกสัตว์กัด โดยเฉพาะสุนัขและแมว ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ และต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเรื่องการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวัคซีนและเซรุ่มโดยเร็วที่สุด
         - แพทย์อาจพิจารณาให้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วยโดยต้องฉีดรอบแผลทุกแผล
  • ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงควรได้รับ 5 ครั้ง ฉีดเข้ากล้าม ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28
         - อย่างไรก็ตามหากสามารถสังเกตอาการสัตว์ที่กัดและสัตว์ยังแข็งแรงดีหลังกัด 10 วัน แพทย์อาจพิจารณาให้วัคซีนเพียง 3 เข็ม (วันที่ 0, 3, 7) และถือว่าผู้นั้นได้รับวัคซีนครบในการป้องกันการถูกกัดในครั้งหน้า
  • สำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนครบมาก่อนแล้ว
         - หากถูกกัดอีกภายใน 6 เดือนหลังจากเข็มสุดท้าย ควรได้รับ 1 ครั้งในวันที่ 0 (วันที่ถูกกัด)
         - หากถูกกัดหลังจาก 6 เดือน ควรได้รับ 2 ครั้งในวันที่ 0 และ 3

เรียบเรียงโดย: พญ.รสวันต์ อารีมิตร นพ.โอฬาร พรหมาลิขิต พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ พญ.ผกากรอง ลุมพิกานนท์

แหล่งข้อมูล: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทยปกติ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2563

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น